ประวัติและปฏิปทา ท่านอาจารย์โกเอ็นก้า (S.N. Goenka)
“ท่านอาจารย์โกเอ็นก้า” หรือ “ท่านอาจารย์สัตยา นารายัน โกเอ็นก้า” (S.N. Goenka) เป็นชาวอินเดียที่ถือกำเนิดในประเทศพม่า ในครอบครัวนักธุรกิจ เมื่อปี พ.ศ. 2467 ท่านได้ประกอบธุรกิจจนประสบความสำเร็จ มีชื่อเสียงมากตั้งแต่ยังอยู่ในวัยหนุ่ม ทั้งได้รับเลือกให้เป็นผู้นำชุมชนชาวอินเดียในพม่า รวมทั้ง เป็นประธานองค์กรต่างๆ อาทิเช่น หอการค้ามาร์วารีแห่งพม่า และสมาคมพาณิชย์และอุตสาหกรรมแห่งร่างกุ้ง นอกจากนี้ยังร่วมเดินทางไปต่างประเทศกับคณะผู้แทนการค้าของสหภาพพม่าในฐานะที่ปรึกษาอยู่บ่อยๆ
เมื่ออายุ 31 ปี ท่านถูกคุกคามด้วยโรคไมเกรน แม้จะได้รับการดูแลบำบัดรักษาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางในหลายประเทศ แต่อาการก็ไม่ดีขึ้น จนในที่สุด ท่านอาจารย์โกเอ็นก้าได้ทดลองเข้าปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานหลักสูตร 10 วันเป็นครั้งแรกกับ ท่านอาจารย์อูบาขิ่น (Sayagyi U Ba Khin) วิปัสสนาจารย์ผู้มีชื่อเสียงที่ชาวพม่าให้ความเคารพนับถืออย่างยิ่งผู้หนึ่ง โดยการแนะนำของเพื่อนชาวพม่าคือ ท่านอูชันตุน อดีตประธานศาลฎีกาพม่า ซึ่งต่อมาภายหลัง ท่านอูชันตุนได้เป็นประธานคนแรกขององค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก
ครั้งแรกท่านก็ลังเลใจ แต่ด้วยคำอธิบายของท่านอาจารย์อูบาขิ่น ถึงหลักของศีล สมาธิ ปัญญา อันเป็นหลักการสากลที่จะช่วยให้มนุษยชาติได้พบทางแห่งการพ้นทุกข์ได้อย่างถาวร ท่านจึงตัดสินใจเข้ารับการอบรมเป็นเวลา10 วัน ซึ่งท่านได้กล่าวถึงช่วงเวลานั้นว่า
“ใน 10 วันนั้น ทำให้ข้าพเจ้าได้เห็นว่า วิธีการนี้เป็นวิธีการที่มีเหตุมีผล ปฏิบัติได้จริง ทั้งยังเป็นวิทยาศาสตร์ และมุ่งประโยชน์แห่งการปฏิบัติ มิได้มุ่งให้เราเกิดศรัทธาความเชื่ออันมืดบอดอย่างเดียว ทำให้ข้าพเจ้าเป็นอิสระจากโรคภัยไข้เจ็บ รู้สึกเป็นสุขอย่างยิ่งในความสงบ และได้ตระหนักว่า สิ่งที่ทำให้หายจากโรคไมเกรนนั้น อันที่จริงก็คือ การที่ข้าพเจ้าสามารถขุดรากของกิเลสบางอย่างในตัวข้าพเจ้าได้ เดิมทีข้าพเจ้าเป็นคนที่มีโทสะมาก วู่วาม และเป็นคนมีอัตตาสูง แต่ในการอบรม 10 วันนี้ ได้ทำให้ข้าพเจ้าสามารถที่จะควบคุมตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น”
ท่านได้เล่าถึงวิธีการที่ได้รับการอบรมว่า
“ตอนที่เข้ารับการอบรมใหม่ๆ เข้าใจว่าคงจะมีการให้บริกรรมคำสวดบางอย่าง แต่อันที่จริงแล้วไม่มีเลย ไม่มีการบริกรรมคำใดๆ ทั้งสิ้น ไม่มีแม้การสร้างภาพ เพียงแต่ให้เราเฝ้าสังเกตลมหายใจที่เข้าออกอย่างเป็นธรรมชาติเท่านั้น นี่คือสมาธิ ขั้นตอนต่อไปเป็นขั้นตอนที่สำคัญ คือวิปัสสนาด้วยการสังเกตเวทนาหรือความรู้สึกทางกายอันเป็นหนทางนำไปสู่ปัญญา คือ การรู้แจ้งในความเป็นอนิจจังหรือความไม่เที่ยง ซี่งวิธีการสังเกตเวทนานี้เป็นสิ่งที่พระพุทธองค์ทรงประทานให้แก่มนุษยชาติเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการนำตนให้พ้นทุกข์”
หลังจบจากการปฏิบัติตามหลักสูตร 10 วันแล้ว ท่านโกเอ็นก้าเกิดความเลื่อมใสศรัทธาในเนื้อหาสาระของคำสอนและในแนวทางปฏิบัติเป็นอย่างมาก จึงปวารณาตัวเข้าปฏิบัติอย่างต่อเนื่องและจริงจัง ต่อมาท่านอาจารย์อูบาขิ่นได้แต่งตั้งให้ท่านทำหน้าที่เป็นอาจารย์ผู้ช่วยสอน
ปี พ.ศ.2512 ท่านได้เดินทางกลับไปยังประเทศอินเดียเพื่อเยี่ยมมารดาที่ล้มป่วย ระหว่างที่อยู่ในอินเดีย ท่านได้จัดอบรมวิปัสสนาให้แก่มารดาและญาติพี่น้อง ซึ่งปรากฏว่ามีผู้ให้ความสนใจเป็นอันมาก นับจากนั้นขบวนการเอหิปัสสิโกก็ได้เริ่มต้นจากปากต่อปากที่บอกต่อๆ กันไป ทำให้มีผู้มาขอเข้าปฏิบัติกันมากขึ้น และจากการที่ท่านอาจารย์อูบาขิ่นมีความฝังใจอยู่แต่เดิมว่า ประเทศอินเดียมีบุญคุณอย่างล้นเหลือที่ได้หยิบยื่นธรรมอันบริสุทธิ์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้แก่ประเทศพม่า ซึ่งเป็นบ้านเกิดเมืองนอนของท่าน แต่ธรรมอันล้ำค่านี้กลับได้สูญหายไปจากประเทศอินเดียอันเป็นต้นกำเนิดจนเกือบหมดสิ้น
ท่านอาจารย์อูบาขิ่น (Sayagyi U Ba Khin)
ท่านอาจารย์โกเอ็นก้าจึงมีความปรารถนาที่จะทดแทนคุณประเทศอินเดีย ด้วยการหาทางนำเอาธรรมะอันล้ำค่านี้กลับไปเผยแผ่อีกครั้ง ซึ่งท่านอาจารย์อูบาขิ่นก็ได้ส่งเสริมและสนับสนุนให้ท่านเปิดการอบรมวิปัสสนาในแนวทางนี้ขึ้นในประเทศอินเดียอย่างต่อเนื่อง
หลังจาก 14 ปีของการปฏิบัติ ท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็นวิปัสสนาจารย์และได้เดินทางไปเผยแผ่การปฏิบัติวิปัสสนาที่ประเทศอินเดียตามความประสงค์ของอาจารย์ของท่าน จนกระทั่งปี พ.ศ.2517 ท่านจึงได้ก่อตั้งและเป็นประธานสถาบันวิปัสสนานานาชาติศูนย์แรกชื่อ “ธรรมคีรี” ขึ้นที่เมืองอิกัตปุรี ใกล้ๆ กับเมืองบอมเบย์ รัฐมหาราษฎร์ ประเทศอินเดีย เพื่อปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานตามแนวทางของท่านอาจารยอูบาขิ่น ซึ่งดำเนินตามแนวทางของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตามที่ได้บันทึกไว้ในพระไตรปิฏก นับจากนั้นมาก็ได้มีการจัดอบรมวิปัสสนาหลักสูตร 10 วันและหลักสูตรระยะยาวต่อเนื่องเรื่อยมา
ปี พ.ศ.2522 ท่านเริ่มเดินทางไปเผยแผ่อบรมการปฏิบัติวิปัสสนาตามประเทศต่างๆ ทั่วโลก ตามแนวทางของท่านอาจารยอูบาขิ่น ซึ่งดำเนินตามหลักคำสอนในพระไตรปิฎก ท่านได้อำนวยการสอนวิปัสสนาหลักสูตร 10 วันในประเทศอินเดียและประเทศอื่นๆ ทั้งในซีกโลกตะวันตกและตะวันออก กว่า 400 หลักสูตร หลักการสอนของท่านโกเอ็นก้าได้รับการยอมรับโดยทั่วไป ทั้งในอินเดีย ประเทศที่ยังคงมีความแตกต่างทางด้านชนชั้นและศาสนาอย่างมาก และจากทั่วโลก ทั้งนี้เพราะคำสอนที่มีลักษณะเป็นสากล มิได้ขัดต่อหลักศาสนาใด ท่านเน้นเสมอว่า มนุษย์ทุกคน ไม่ว่าจะมีเชื้อชาติใด นับถือศาสนาใด และมีผิวสีอะไร ต่างก็มีความทุกข์ในรูปแบบเดียวกันทั้งสิ้น ในเมื่อความทุกข์ของมนุษย์เป็นสากล วิธีการปฏิบัติเพื่อให้พ้นจากความทุกข์จึงต้องเป็นสากลเช่นกัน
ต่อมาท่านได้เริ่มแต่งตั้งอาจารย์ผู้ช่วยให้ช่วยดำเนินการอบรมแทนท่าน โดยใช้เทปและวิดีโอของท่านเป็นแนวทางในการสอน เพื่อรองรับกับความต้องการของประชาชนที่จะเข้าอบรมซึ่งเพิ่มสูงขึ้น ทุกวันนี้มีอาจารย์ผู้ช่วยกว่า 700 ท่าน และอาสาสมัครช่วยงานต่างๆ อีกนับพันๆ คน มีการจัดอบรมวิปัสสนาในประเทศต่างๆ กว่า 90 ประเทศทั่วโลก ทั้งในเอเชีย ยุโรป อเมริกา ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์
โดยมีการก่อสร้างศูนย์วิปัสสนาทั้งสิ้น 80 แห่งใน 21 ประเทศทั่วโลก ในแต่ละปีจะมีการจัดอบรมหลักสูตรวิปัสสนาทั่วโลกกว่าหนึ่งพันหลักสูตร โดยไม่มีการเรียกเก็บเงินค่าอบรม ที่พัก หรือค่าอาหารใดๆ ขึ้นอยู่กับความสมัครใจที่จะบริจาค ทั้งตัวท่านอาจารย์โกเอ็นก้าเองและอาจารย์ผู้ช่วยต่างๆ ก็ไม่ได้รับค่าตอบแทนใดๆ จากการอบรมดังกล่าวแม้แต่น้อย
Blog Archive
Saturday, September 27, 2008
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment