ขอให้การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานของท่านจงยังประโยชน์สูงสุดให้แก่ท่าน เพื่อให้บรรลุผลดังกล่าว จึงขอเสนอข้อปฏิบัติดังต่อไปนี้ ด้วยความปรารถนาดีต่อความสำเร็จของท่าน โปรดทำความเข้าใจให้ตลอดก่อนกรอกใบสมัครเพื่อขอเข้ารับการฝึกอบรม
คำแนะนำเกี่ยวกับวิธีการปฏิบัติ
วิปัสสนาเป็นวิธีการปฏิบัติกรรมฐานที่เก่าแก่ที่สุดวิธีหนึ่งของอินเดีย ซึ่งได้สาบสูญไปจากมนุษยชาติมาเป็นเวลานาน แต่ก็ได้กลับมาค้นพบอีกครั้งโดยองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเมื่อกว่า 2,500 ปีมาแล้ว วิปัสสนาหมายถึง "การมองดูสิ่งต่างๆ ตามความเป็นจริง" อันเป็นกระบวนการในการทำจิตให้บริสุทธิ์โดยการเฝ้าดูตนเอง เราจะเริ่มต้นด้วยการเฝ้าสังเกตดูลมหายใจตามธรรมชาติ เพื่อทำให้จิตมีสมาธิ เมื่อมีสติที่มั่นคง เราก็จะก้าวไปสู่การเฝ้าสังเกตถึงการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติของกายและจิต ซึ่งจะทำให้ได้พบกับสัจธรรมที่เป็นสากลคือ ได้เห็นความไม่เที่ยง(อนิจจัง) ความทุกข์ (ทุกขัง) และความไม่มีตัวตน (อนัตตา) การที่ได้รู้เห็นถึงสภาพธรรมตามความเป็นจริงเหล่านี้จากประสบการณ์ของท่านเองโดยตรง จึงเป็นวิธีการในการชำระจิตให้บริสุทธิ์ ธรรมะเป็นเรื่องสากล มีไว้สำหรับแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เป็นสากล มิได้ผูกขาดเฉพาะศาสนาใดศาสนาหนึ่งหรือลัทธิใดลัทธิหนึ่ง ด้วยเหตุนี้บุคคลทุกคนจึงสามารถจะปฏิบัติได้อย่างเสรี โดยไม่มีข้อขัดแย้งในเรื่องของเชื้อชาติ ชั้นวรรณะ หรือศาสนา ในที่ทุกสถาน ในกาลทุกเมื่อ และจะเป็นประโยชน์ต่อทุกๆ คนโดยทั่วถึงกัน
วิปัสสนานั้นมิใช่เป็น
* พิธีกรรมที่มีพื้นฐานทางความเชื่อถืออย่างงมงาย
* เรื่องบันเทิงทางปัญญาหรือปรัชญา
* การพักฟื้น การหยุดพักผ่อน หรือโอกาสที่จะมาสังสรรค์กัน
* การหลีกหนีจากปัญหาและความยุ่งยากในชีวิตประจำวัน
หากแต่วิปัสสนาเป็น
* วิธีการในการขจัดความทุกข์
* ศิลปะของการดำเนินชีวิตที่จะทำให้คนเราอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข
* วิธีการทำจิตให้บริสุทธิ์ ซึ่งจะทำให้คนเราสามารถเผชิญกับความตึงเครียดและปัญหาในชีวิตได้ด้วยความสงบและความสมดุลทางจิตใจ
วิปัสสนากรรมฐานจึงมุ่งไปยังเป้าหมายทางจิตใจในระดับสูงสุด เพื่อการหลุดพ้นโดยสิ้นเชิงและเพื่อการบรรลุธรรม มิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อการบำบัดรักษาโรคทางกาย แต่เนื่องจากเป็นผลพลอยได้จากการทำจิตให้บริสุทธิ์ จึงทำให้ความเจ็บป่วยอันเนื่องมาจากความเก็บกดในจิตใจหมดไป แท้จริงแล้ว วิปัสสนาสามารถที่จะขจัดสาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ 3 ประการ คือ โลภ โกรธ หลง ได้ ถ้าได้ปฏิบัติต่อเนื่องกัน วิปัสสนาจะระบายความตึงเครียดที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันและแก้ปมในใจที่ผูกอยู่ เนื่องจากนิสัยดั้งเดิมที่ชอบปรุงแต่งต่อสถานการณ์ต่างๆ เช่น ปรุงแต่งไปในทางที่ชอบหรือพอใจ (อันทำให้เกิดโลภะ) และไม่ชอบหรือไม่พอใจ (อันทำให้เกิดโทสะ) แม้ว่าวิปัสสนาจะพัฒนาขึ้นมาโดยที่เป็นวิธีการหนึ่งของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่การปฏิบัติก็มิได้จำกัดอยู่แต่เฉพาะผู้ที่นับถือศาสนาพุทธเท่านั้น จึงไม่มีปัญหาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของศาสนาแต่อย่างใด วิธีปฏิบัติตั้งอยู่บนพื้นฐานธรรมดาสามัญที่ว่า มนุษย์ทุกคนต่างมีปัญหาเหมือนๆ กัน และวิธีการที่สามารถขจัดปัญหาต่างๆ เหล่านี้ได้ จะต้องเป็นวิธีที่เป็นสากล มีผู้ที่นับถือศาสนาอื่นๆ เคยได้รับผลจากการปฏิบัติวิปัสสนามาแล้ว โดยมิได้มีความขัดแย้งกับความเชื่อที่มีอยู่เดิม
วินัยในการปฏิบัติ
กระบวนการทำจิตให้บริสุทธิ์โดยการสังเกตดูตนเองนี้ มิใช่เป็นเรื่องง่ายอย่างแน่นอน เราจะต้องปฏิบัติอย่างจริงจัง ผู้เข้ารับการฝึกจะต้องใช้ความพยายามของตนเองเท่านั้น จึงจะเข้าถึงการรู้แจ้งเห็นจริงด้วยตนเอง ไม่มีใครอื่นที่จะทำให้ได้ ดังนั้นวิปัสสนากรรมฐานจึงเหมาะสำหรับผู้ที่มีความตั้งใจอย่างแรงกล้าที่จะปฏิบัติ และมีความเคร่งครัดต่อระเบียบ เพื่อประโยชน์แก่ตนเอง และเป็นการคุ้มครองตนเองด้วย กฎระเบียบต่างๆ จะเป็นส่วนที่ทำให้การปฏิบัติกรรมฐานสมบูรณ์ขึ้น เวลา 10 วันนี้นับว่าเป็นระยะเวลาที่สั้นในการที่จะเจาะลึกเข้าไปถึงระดับจิตใต้สำนึก และเรียนรู้วิธีการที่ขจัดกิเลสที่ตกตะกอนอยู่ในส่วนลึกสุด (อนุสัยกิเลส) การปฏิบัติให้ต่อเนื่องโดยไม่พูดจาหรือเกี่ยวข้องกับใคร เป็นเคล็ดลับของความสำเร็จของวิธีการนี้
กฎระเบียบต่างๆ ที่กำหนดขึ้น ก็เพื่อรักษาการปฏิบัติแนวนี้ให้คงอยู่ได้ กฎเกณฑ์ต่างๆ มิได้ตั้งขึ้นเพื่อประโยชน์ของอาจารย์ผู้สอน หรือเพื่อความสะดวกในการบริหาร หรือเพื่อคัดค้านประเพณีคำสอน หรือความเชื่องมงายที่มีอยู่ในบางศาสนา แต่เป็นสิ่งที่มีพื้นฐานมาจากประสบการณ์ของผู้ปฏิบัติกรรมฐานนับพันๆ คนเป็นเวลาหลายปี และยังเป็นสิ่งที่มีเหตุผลเป็นวิทยาศาสตร์ การรักษากฎระเบียบจะก่อให้เกิดบรรยากาศที่เป็นระเบียบอันเหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับการปฏิบัติกรรมฐาน การฝ่าฝืนกฎระเบียบย่อมจะทำให้เกิดมลภาวะ ผู้เข้ารับการฝึกจะต้องอยู่ให้ครบ 10 วัน และจะต้องอ่านกฎระเบียบต่างๆอย่างใคร่ครวญ ผู้ที่คิดว่าสามารถปฏิบัติตามกฎเกณฑ์เหล่านี้ได้เท่านั้น จึงควรจะสมัครเข้าปฏิบัติ ผู้ที่มิได้เตรียมตัวที่จะใช้ความพยายามในการปฏิบัติอย่างเต็มที่ ไม่ควรสมัคร เพราะจะเสียเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์ นอกจากนี้ยังจะเป็นการรบกวนบุคคลอื่นที่ตั้งใจเข้ามาปฏิบัติด้วยความเคร่งครัดอีกด้วย ผู้เข้ารับการฝึกจะได้รับคำเตือนว่า หากเลิกฝึกก่อนที่จะจบการอบรม เนื่องจากเห็นว่ากฎระเบียบต่างๆ ยากที่จะปฏิบัติ จะทำให้เกิดอันตรายแก่ตัวผู้นั้น รวมทั้งจะก่อให้เกิดความไม่สบายใจขึ้นมาได้ ในกรณีที่นับว่าร้ายแรงที่สุดก็คือ เมื่อถูกเตือนหลายครั้งแล้ว ยังไม่สามารถจะปฏิบัติตามกฎระเบียบได้ ก็จะถูกขอให้ออกไปจากการฝึกอบรม
ผู้ป่วยด้วยโรคทางจิตประสาท
บุคคลที่ป่วยด้วยโรคทางจิต บางครั้งอาจต้องการสมัครมาเข้ารับการฝึกวิปัสสนาด้วยความเข้าใจผิดว่า การปฏิบัติวิปัสสนาจะช่วยรักษา หรือบรรเทาอาการป่วยทางจิตของตน แท้จริงแล้ว ความสัมพันธ์ส่วนตัวที่ไม่ปกติสุขตลอดจนการได้รับการเยียวยาทางจิตประสาทด้วยวิธีต่างๆ มาแล้วนั้น กลับจะเป็นอุปสรรคในการปฏิบัติภาวนาจนถึงขั้นที่ทำให้ไม่ได้รับประโยน์ใดๆ เลยจากการมาเข้ารับการฝึกอบรม หรืออาจทำให้ไม่สามารถอยู่รับการฝึกให้ตลอดหลักสูตรได้ด้วย แม้การปฏิบัติวิปัสสนาจะเป็นประโยชน์สำหรับคนส่วนใหญ่ แต่ก็มิใช่เป็นการทดแทนการรักษาพยาบาลด้วยยาหรืออื่นใด เนื่องจากศูนย์ปฏิบัติของเราให้บริการโดยอาสาสมัครทั้งสิ้น จึงทำให้ไม่สามารถที่จะดูแลบุคคลผู้มีปัญหาเหล่านี้โดยถูกต้องได้ ผู้มีปัญหาทางจิตประสาทจึงไม่ควรสมัครเข้ารับการอบรม
Blog Archive
Saturday, September 27, 2008
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment